ทึ่ง! พระนำของบริจาค แลกแรงงานสร้างถนน
เรื่องของพระสงฆ์ที่มีแนวคิดในการว่าจ้างแรงงาน ด้วยการใช้วิธีนำของที่ได้รับมาแลกเปลี่ยน เกิดขึ้นโดย เจ้าคุณพิศาลประชานุกูล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโสดา ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่มีโครงการร่วมมือกับชาวบ้านจะทำการสร้างถนนจำนวน 5 สาย เชื่อมระหว่าง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กับ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร กับสะพานอีก 2 แห่ง
สำหรับการสร้างดังกล่าวจะใช้แรงงานคน และจอบเสียม โดยไม่ใช้เครื่องจักรหรือรถทำถนนแต่อย่างใด อีกทั้งไม่พึ่งพาเงินงบประมาณจากทางราชการ ขณะนี้ประสบผลสำเร็จไปแล้ว 1 โครงการ ระยะทางร่วม 57 กิโลเมตร และกำลังดำเนินการโครงการที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะการก่อสร้างคล้ายกับที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยในอดีตที่เคยลงมือสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาแล้วเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน
เจ้าคุณพิศาลประชานุกูล เปิดเผยถึงแนวคิดการสร้างถนนว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปธุดงค์และจำพรรษาตามวัดต่างๆบริเวณ จ.เชี ยงใหม่ และ จ.ตาก ซึ่งอยู่ตามถิ่นทุรกันดาร ต้องเดินทางขึ้นลงเขาด้วยการเดินเท้าโดยเฉพาะในช่วงฤดหนาวต้องต้องแบกขนสิ่งของขึ้นไปในหมู่บ้านที่อยู่บนยอดดอยและมีชาวบ้านที่มีจิตศรัทธามาบริจาคสิ่งของจำนวนมาก แต่ด้วยความยากลำบากจึงเดินทางมาเพียงครั้งเดียว เพราะเส้นทางการเดินทางลำบากมาก
"บางครั้งเมื่อมีเสื้อผ้า และผ้าห่มที่ได้รับมา อาตมาต้องการที่จะนำขึ้นไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารซึ่งมีอยู่จำนวนมากในหุบเขาและพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แต่ด้วยลำบากทำให้สิ่งของจำเป็นที่ได้มาไม่ถึงมือประชาชน ประกอบกับเห็นชาวบ้านที่อยู่บนดอยเมื่อเจ็บป่วยจะเดินทางไปโรงพยาบาลก็ลำบาก
นอกจากนี้การที่จะติดต่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น เดินทางไปที่ว่าการอำเภอก็ลำบาก เด็กเล็กไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเพราะระยะทางการเดินทางไกล ทำให้จบการเพียงระดับชั้นประถมในหมู่บ้านโดยไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูง เมื่อชาวบ้านร้องขอผ่านไปยังหน่วยงานราชการก็จะติดขัดเรื่องงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ระยะหลังได้รับสิ่งของที่มีประชาชนนำมาถวายจากการทำบุญเป็นจำนวนมาก ทั้งข้าวสาร อาหารแห้งจึงมีความคิดที่จะนำเอาสิ่งอุปโภคบริโภคเหล่านี้ขึ้นไปให้ชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร โดยนำไปแลกกับแรงงานชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งแลกเปลี่ยนเป็นค่าแรงงาน มูลค่าประมาณ 50 บาท ต่อคน ต่อวัน เพื่อขอให้ชาวบ้านได้เข้ามาช่วยกันสร้างทางเป็นถนนเข้าหมู่บ้านและตัดต่อไปยังถนนใหญ่
เจ้าคุณพิศาลประชานุกูล กล่าวต่อว่า การสร้างถนนจะเชื่อมต่อจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง จากตำบลหนึ่งไปยังอีกตำบลหนึ่งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของชาวบ้าน และปรากฎว่าได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เนื่องจากทุกคนมองเห็นความสำคัญ จึงได้นำจอบเสียมของตนเองที่มีอยู่ออกมาช่วยกันสร้างทางโดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขาโดยเฉพาะเผ่ากะเหรี่ยง ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี บางครั้งมีชาวบ้านมาช่วย 20 คน บางครั้งมีมากถึง 200 คน ขึ้นอยู่กับหมู่บ้านไหนที่มีคนมากน้อย
ส่วนแนวคิดในการร่วมกับชาวบ้านใช้จอบสร้างถนนนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541ขณะนี้ได้สร้างถนนลำลอง 3 สายมาบรรจบกันแล้ว รวมระยะทาง 57 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ปี 4 เดือน จากเขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ถึงเขต อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และสามารถทำสำเร็จไปแล้วเมื่อปี 2545 โดยไม่ได้ใช้งบประมาณทางราชการแต่อย่างใดและขณะนี้ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีจะได้ระยะทางที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแรงศรัทธาของชาวบ้านที่ร่วมใจเปลี่ยนสภาพจากเส้นทางป่าสำหรับเดินเป็นเส้นทางรถจักรยานยนต์และขยายจนเป็นเส้นทางรถยนต์วิ่งสัญจรได้สะดวกขึ้น
"หากครั้งใดที่ได้สิ่งของถวาย จำพวกของอุปโภคบริโภคจำนวนมากจะนำมาแลกเปลี่ยนเป็นแรงงานชาวบ้านได้มาก ปัจจุบันนี้เส้นทางลำลองดังกล่าวทั้งคนและรถสามารถสัญจรไปมาได้โดยสะดวก ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างโครงการที่ 2 ต่อ เนื่องจากปัจจุบันยังมีชาวบ้านที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารยังเดือดร้อน อยากมีเส้นทางการสัญจรที่สะดวก"
เจ้าคุณพิศาลประชานุกูล กล่าวว่า โครงการที่ 2 ได้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2550 จะดำเนินการสร้าง จำนวน 2 สาย ระยะทางรวม 38 กิโลเมตร กับสะพานอีก 2 แห่ง เพื่อเชื่อมบรรจบให้เป็นสายเดียวจาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ไปยัง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วประมาณ 7-8 กิโลเมตร
"อยากเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญบริจาคจอบ เสียม เกลือ ปลาเค็ม มะพร้าว เพื่อตอบแทนเป็นค่าแรงงานให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเกลือเม็ดเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับชาวดอย อยากให้บริจาคเป็นสิ่งของมากกว่าเงิน รวมถึงมะพร้าวแห้งเพื่อนำเอาไปเพาะปลูกบริเวณริมลำห้วย หัวไร่ปลายนาบ้านป่าจะมีมะพร้าวไว้กินเป็นการส่งเสริมปลูกป่าไปด้วย "
เจ้าคุณพิศาลประชานุกูล กล่าวด้วยว่า การทำบุญสร้างถนนหนทางถือว่าจะได้บุญมาก เพราะจะทำให้ชาวบ้านสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก อุปสรรคต่างๆที่เคยมีจะลดน้อยลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประวัติเจ้าคุณพิศาลประชานุกูล เป็นชาวกะเหรี่ยง อายุ 47 ปี พรรษา 24 วิทยฐานะ น.ธ.เอก คบ.ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโสดา ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์อบรมศีลธรรมาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูงบ้านแม่สลิดหลวง ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เกิดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2503 มารดาชื่อนางบือเตาะ สุขสมบัติธรรม ที่บ้านเลขที่ 13 หมู่ 4 ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2518 ณ วัดแม่ต้านเหนือ ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ณ พัทธสีมาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม. ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยใช้ชื่อ พระปลัดดำริ ฉายา อิทธิมนฺโต ก่อนจะได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ เจ้าคุณพิศาลประชานุกูล เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 เป็นพระธรรมจาริกชาวกะเหรี่ยงรูปแรกที่ได้รับพระราชทานตั้งเป็นสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติแก่โครงการพระธรรมจาริกเป็นอย่างยิ่ง
ติดต่อได้ที่
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
วัดศรีโสดา ต. สุเทพ อ.เมือง จ. เชียงใหม่ 50200
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment