Friday, November 03, 2006

รักษาใจให้ปลอดพิษ พระไพศาล วิสาโล

รักษาใจให้ปลอดพิษ

พระไพศาล วิสาโล

RECAP:

- จากประกายไฟกลายเป็นกองเพลิง
- ทุกข์คลายได้ ถ้ารู้จักปล่อยวาง
- รู้เมื่อใด ละเมื่อนั้น
- เปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่น
- เยียวยาใจด้วยการให้อภัย
- มองแง่ดี
- อยู่วิเวกเป็นครั้งคราว
- อยู่ในโลกอย่างรู้เท่าทัน

- เปิดปากเปิดใจ


หญิงสาวคนหนึ่งมีอาการปวดท้องและปวดหัวเรื้อรัง

ทั้งยังมีความดันโลหิตสูงด้วย ไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีอาการดีขึ้น

น่าแปลกก็คือหมอหาสาเหตุของโรคไม่พบ ร่างกายของเธอเป็นปกติทุกอย่าง

สุดท้ายหมอก็ถามเธอว่า "ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

เล่าให้ผมฟังหน่อยสิ"

แล้วหญิงผู้นั้นก็เล่าชีวิตของเธอให้ฟัง

หมอสะดุดใจเมื่อเธอเล่าว่ามีเรื่องบาดหมางกับพี่สาวสองคน

เพราะทั้งสองทิ้งเธอให้ต่อสู้กับปัญหาตามลำพังเมื่อหลายปีก่อน

หมอสงสัยว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นต้นเหตุให้เธอเจ็บป่วยเรื้อรัง

คำแนะนำของหมอก็คือ เธอควรยกโทษให้พี่สาวทั้งสอง

หญิงสาวคงนึกไม่ถึงว่าจะได้รับคำแนะนำเช่นนี้จากหมอ

แต่หลายปีต่อมาหมอก็ได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ว่า

เธอคืนดีกับพี่สาวแล้ว และอาการเจ็บป่วยเรื้อรังก็หายเป็นปลิดทิ้ง

ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ

ไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ที่มาแล้วก็ผ่านไปดังสายลม

บ่อยครั้งมันถูกเก็บสะสมและหมักหมมจนไม่เพียงทำให้ร้าวรานใจเท่านั้น

หากยังบั่นทอนร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังดังหญิงสาวผู้นี้

อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง

เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง

สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ

คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย ดังที่หญิงสาวผู้นี้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามอารมณ์ที่มีพิษบั่นทอนจิตใจและร่างกายนั้น

มิได้มีแค่ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ

เท่านั้น หากยังมีอีกมากมาย เช่น ความท้อแท้

ผิดหวัง เศร้าโศก พยาบาท และที่เป็นกันแทบทุกคนก็คือ

ความเครียด และวิตกกังวล


จากประกายไฟกลายเป็นกองเพลิง


อารมณ์เหล่านี้ก็เช่นเดียวกับไฟ คือไม่ได้เกิดขึ้นเอง

แต่เกิดจากการสัมผัสหรือเสียดสีอย่างน้อยสองอย่างคือ

ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น

ฯลฯ แน่นอนต้องเป็นรูป เสียง หรือกลิ่นที่ไม่น่ายินดี

ทำให้เกิดความทุกข์หรือความไม่พอใจขึ้นมา

ความไม่พอใจนี้เปรียบดังประกายไฟซึ่งวาบขึ้นมาเมื่อมีการเสียดสีกัน

ธรรมดาประกายไฟเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับวูบไปในทันที

แต่ถ้ามีเชื้อไฟอยู่ใกล้ ๆ มันก็ลุกเป็นเปลวไฟ

แล้วอาจขยายเป็นกองไฟ หรือลามจนกลายเป็นมหาอัคคีไปในที่สุด

คนเรานั้นไม่ว่าจะร่ำรวย มีอำนาจ และเทคโนโลยีอยู่ในมือมากมายเพียงใดก็ตาม

ย่อมไม่อาจหลีกหนีสิ่งที่ไม่น่ายินดีได้

เช่น อากาศร้อน รถติด เพื่อนผิดนัด คำตำหนิ

หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน

ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความแก่ ความเจ็บ

และความตาย ดังนั้นความทุกข์หรือความไม่พอใจจึงเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

และถ้าปล่อยให้มันดับไปเองเฉกเช่นประกายไฟก็ไม่มีปัญหาอะไร

ปัญหาอยู่ที่เรากลับทำให้ความไม่พอใจนั้นยืดเยื้อเรื้อรังจนลุกลามขยายใหญ่โต

กลายเป็นอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน จนบางทีอั้นไว้ไม่อยู่

ต้องระบายใส่คนอื่น หรือถ้าอั้นเอาไว้ได้

มันก็วกกลับมาทำร้ายร่างกายและจิตใจของตนเอง

จนป่วยด้วยโรคสารพัด เราไปทำอะไรหรือ ถึงไปโหมกระพืออารมณ์ให้พลุ่งพล่านขึ้นมา?

คำตอบก็คือ เราไปเติมเชื้อให้มันโดยไม่รู้ตัว

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อันไม่น่าพอใจเกิดขึ้น

เรามักจะเก็บเอามาคิดซ้ำย้ำทวน หรือครุ่นคิดอยู่ไม่วาย

ทั้ง ๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะครุ่นคิดอยู่นั่นเอง

การครุ่นคิดถึงมันอยู่บ่อย ๆ เท่ากับเป็นการเติมเชื้อให้มันเติบใหญ่และลุกลามไปเรื่อย

ๆ จนอาจถึงจุดที่ควบคุมไม่อยู่ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะเหตุนี้

เคยมีนักเรียนบางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพียงเพราะถูกเพื่อนล้อว่ามีสิว

สิวเพียงไม่กี่เม็ดบนใบหน้าผลักให้นักเรียนวัยใสทำร้ายตัวเองได้อย่างไร

หากไม่ใช่เพราะการเก็บเอาคำหยอกล้อของเพื่อน

ๆ มาครุ่นคิดทั้งวันทั้งคืน จนความอับอายและน้อยเนื้อต่ำใจกลายเป็นความหมดอาลัยในชีวิต


ทุกข์คลายได้ ถ้ารู้จักปล่อยวาง


เมื่อความทุกข์หรือความไม่พอใจเกิดขึ้น

วิธีป้องกันมิให้มันลุกลามหรือหมักหมมจนกลายเป็นอารมณ์เรื้อรังที่เป็นพิษต่อชีวิตของเรา

ก็คือการไม่เก็บเอามาคิดย้ำซ้ำทวนหรือหวนกลับไปนึกถึงบ่อย

ๆ จนถอนไม่ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งถลำลึกในอารมณ์

และทำให้อารมณ์มีพลังดึงดูดจนหลุดออกมาได้ยากขึ้นเรื่อย

ๆ เหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในอดีตที่ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้

การครุ่นคิดถึงมันเพียงเพราะใจอยากคิดนั้น

ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร กลับจะเป็นโทษด้วยซ้ำ

เว้นเสียแต่ว่าต้องการทบทวนเพื่อสรุปหาบทเรียนหรือทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้

(แม้กระนั้นก็ต้องระวังไม่ให้ตกลงหลุมอารมณ์โดยไม่รู้ตัว)

พูดง่าย ๆ คือต้องรู้จักปล่อยวาง เชื่อหรือไม่ว่าตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราทุกข์อย่างยิ่งนั้น

อยู่ที่ใจซึ่งปล่อยวางไม่เป็นต่างหาก

หาได้อยู่ที่คนอื่นหรือเหตุการณ์ภายนอกไม่

แม้จะมีอะไรมากระทบอย่างแรง แต่ถ้าใจรู้จักปล่อยวาง

มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ในทางตรงข้ามแม้เหตุร้ายจะผ่านไปนานแล้ว

แต่ถ้าใจยังยึดไว้อย่างเหนียวแน่น ก็เหมือนกับตกอยู่ท่ามกลางกองไฟ

หญิงผู้หนึ่งได้พบความจริงว่า ชายซึ่งครองคู่อยู่ด้วยกันมากว่า

๑๐ปีนั้น ไม่ซื่อสัตย์ต่อเธอ เธอโมโหและเคียดแค้นมาก

แม้จะแยกทางจากเขาหลายเดือนแล้ว แต่ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ก็ร้อนรุ่มขึ้นมาทันที

เธอจึงหันเข้าหาสมาธิภาวนา แต่ไม่วายกลับไปขุดเรื่องเก่ามาเผาลนจิตใจไม่หยุดหย่อน

หาความสุขไม่ได้เลยแม้รอบตัวจะสงบเย็นก็ตาม

แต่แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับเธอ

ตอนนั้นเธอกำลังเดินจงกรม เอามือทั้งสองข้างประสานกันที่ท้องน้อย

หลังจากเดินนานนับชั่วโมง เธอรู้สึกเมื่อย

จึงปล่อยมือลง ทันทีที่ปล่อยมือ กายก็รู้สึกสบาย

เธอได้คิดขึ้นมาโดยพลันว่า "แค่ปล่อย

เราก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป"

และแล้วเธอก็รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เพราะชั่วขณะนั้นเองเธอได้ระลึกว่า ที่ยังทุกข์ทรมานไม่เลิกราเพราะใจยังติดยึดกับเรื่องร้ายในอดีต

วินาทีนั้นเธอได้ปล่อยมันออกไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิง

แล้วน้ำตาก็รินไหลออกมาด้วยความปีติ


รู้เมื่อใด ละเมื่อนั้น


ไม่ว่าอารมณ์จะหมักหมมเรื้อรังเพียงใด

ก็ไม่เกินวิสัยที่จะปล่อยไปจากใจ ขอเพียงมีสติระลึกรู้ทันว่ากำลังหลงยึดมันอยู่

อย่าลืมว่ามันค้างคาในใจเราได้ เพราะใจเรานั่นแหละที่ไปยึดมันเอาไว้ไม่ยอมปล่อย

ทันทีที่ใจปล่อย มันก็หลุด แต่เผลอเมื่อไร

ใจก็อาจไปยึดมันเอาไว้อีก ถ้าจะไม่ให้เผลอ

ก็ต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ สติจึงมีความสำคัญอย่างมากในการปลดเปลื้องอารมณ์เหล่านี้

ที่จริงหากมีสติหรือความรู้ตัวตั้งแต่แรกที่ประกายแห่งความไม่พอใจเกิดขึ้น

มันก็ดับไปตั้งแต่ตอนนั้น เพราะใจจะไม่เผลอไปเก็บเอามาคิดหรือเติมเชื้อให้มันลุกลามกลายเป็นกองเพลิงกลางใจหรือคุคั่งอยู่ภายใน

แต่คนทั่วไป สติค่อนข้างงุ่มง่าม รู้ตัวได้ช้า

อารมณ์เลยลุกลามไปได้เร็ว ดังนั้นจึงควรฝึกสติให้มีความว่องไวรวดเร็ว

รู้ทันความไม่พอใจที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็รู้ทันเมื่อมันปะทุเป็นอารมณ์น้อย

ๆ ขึ้นมา

เราสามารถฝึกสติได้โดยเริ่มต้นจากการเข้าคอร์สสมาธิภาวนาซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบัน

แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องบ่มเพาะสติในชีวิตประจำวัน

ด้วยการหมั่นดูจิตมองตนอยู่เสมอ รวมทั้งใส่ใจกับงานทุกอย่างที่ทำ

ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ กายทำอะไรก็ตาม ใจก็รับรู้สิ่งที่ทำด้วย

ด้วยวิธีนี้สติจะว่องไวและเข้มแข็ง จนรู้ทันอารมณ์ต่าง

ๆ ที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ว่าบวกหรือลบ ฟูหรือแฟบ

ยินดีหรือยินร้าย นิสัยใจลอยก็จะลดลงไปด้วย

สตินั้นสามารถใช้รับมือกับอารมณ์ต่าง

ๆ ได้ทุกชนิด โดยเพียงแต่รู้เฉย ๆ ว่ามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น

ใจก็ปล่อยมันหลุดไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปขับไสไล่ส่งมันเลย

บางคนคิดว่าจะต้องเข้าไปเล่นงานมัน เช่น

กดมันเอาไว้ หรือไล่มันไป แต่ยิ่งทำ ก็ยิ่งเป็นการเติมเชื้อให้มันมีพลังมากขึ้น

หรือกลายเป็นการติดกับดักมัน เหมือนกับไก่ป่าที่คิดไล่ไก่ต่อที่นายพรานเอามาล่อไว้

แต่สุดท้ายก็ติดกับดักของนายพราน


เปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่น


การย้ายความสนใจไปยังสิ่งอื่น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ใจไม่ไปหมกมุ่นกับความทุกข์หรือตกหลุมอารมณ์อกุศลทั้งหลาย

เช่น เวลาโกรธใครขึ้นมา ลองดึงจิตมาจดจ่อกับลมหายใจ

ขณะเดียวกันก็หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว

ๆ และนับทุกครั้งที่หายใจออก เริ่มจาก

๑ ไปจนถึง ๑๐ ถ้าลืมก็นับ ๑ ใหม่ แม้ความโกรธจะไม่หายทันที

แต่ก็จะทุเลา หรือร้อนรุ่มน้อยลง เพราะมันสะดุดขาดตอนแม้จะเป็นช่วงสั้น

ๆ ก็ตาม

การนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น ก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของเราด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงคนที่ลำบากกว่าเรา

หมอกุมารเวชผู้หนึ่งเป็นทุกข์มากเพราะเสียสามีกะทันหัน

เสร็จงานศพแล้วก็ยังไม่หายซึมเศร้า ไปทำงานก็ไม่พูดไม่คุยกับใคร

นั่งซึมอยู่ในห้องคนเดียว เป็นเช่นนี้นานร่วมสองอาทิตย์

เพื่อน ๆ ช่วยเท่าไรก็ไม่ได้ผล สุดท้ายหัวหน้าแผนกก็เอาทารกที่กำลังป่วยคนหนึ่งมาวางไว้บนโต๊ะเธอ

แล้วเดินจากไป ไม่นานเด็กก็ร้องไห้ แต่เธอยังนั่งนิ่ง

จนเด็กร้องไห้ดังขึ้น เธอจึงลุกไปดูเด็ก

และช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมพร้อมกับป้อนนมให้เด็ก

แล้วก็นั่งนิ่งอีก แต่เด็กไม่ยอมให้เธออยู่นิ่ง

ๆ ได้นาน ในที่สุดเธอก็ต้องมาตรวจดูอาการเจ็บป่วยของเด็ก

วันรุ่งขึ้น เมื่อเธอมาถึงโรงพยาบาล อย่างแรกที่เธอทำคือถามอาการของเด็กคนนั้น

แล้วเดินเข้าไปดูเด็กถึงเตียง ทีนี้ก็พบว่ายังมีเด็กอีกหลายคนที่รอการเยียวยาจากเธอ

วันนั้นทั้งวันเธอจึงดูแลรักษาเด็กคนแล้วคนเล่า

เช่นเดียวกับวันถัดไป ผลก็คือเธอหายซึมเศร้า

และกลับมาเป็นคนเดิมอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อใจเราไปจดจ่อกับสิ่งอื่นแทน อารมณ์ที่เคยเกาะกุมจิตใจก็เหมือนกับกองไฟที่ไม่มีใครมาเติมเชื้อให้

มันก็จะค่อย ๆ หรี่ลง จนอาจมอดดับไปเลย

แต่ถ้าเราหันไปหมกมุ่นกับอารมณ์เหล่านั้น

มันก็จะคุโชนขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นถ้ารู้จักหันความสนใจไปยังสิ่งอื่น

(ที่ไม่ใช่อบายมุขหรือสิ่งเสพติด)

ใจเราจะโปร่งเบามากขึ้นเรื่อย ๆ


มองแง่ดี


ขยะปฏิกูลนั้น ถ้าใช้ไม่เป็น ปล่อยให้หมักหมม

ก็ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นที่มาของโรค แต่ถ้ารู้จักใช้

ก็เป็นประโยชน์ เช่น กลายเป็นปุ๋ย ความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เช่นกัน

ไม่ว่าโรคภัยไข้เจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย

หรือความยากลำบาก ถ้าเราไม่รู้จักมอง ก็ก่อให้เกิดอารมณ์หมักหมมที่ล้วนเป็นอกุศล

แต่ถ้ามองเป็นจนเห็นประโยชน์ หรือรู้จักมองในแง่ดี

อารมณ์อกุศลก็จะคลายไป เกิดความรู้สึกดีขึ้นมาแทนที่

หรืออย่างน้อยก็ปล่อยวางได้มากขึ้น

ชายหนุ่มคนหนึ่ง ทำโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุดหายไป

รู้สึกเสียดายมาก จึงไปหาหลวงพ่อซึ่งเป็นเกจิอาจารย์

หวังว่าท่านจะช่วยชี้แนะให้ได้คืนมา แต่หลวงพ่อแทนที่จะถามว่าโทรศัพท์รุ่นอะไร

กลับถามว่า "มีทองไหม ?"

ชายหนุ่มตอบ "มีครับ"

"อีกไม่นานทองก็จะหาย" แล้วท่านก็ถามต่อว่า

"มีรถไหม ?"

ชายหนุ่มตอบว่ามี

"อีกไม่นานรถก็จะหาย...แล้วมีแฟนไหม?"

ชายหนุ่มตอบว่ามี

"อีกไม่นานแฟนก็จะหายเหมือนกัน"

มาถึงตรงนี้ชายหนุ่มก็กราบลาหลวงพ่อ ไม่พูดถึงโทรศัพท์อีกเลย

เพราะเขามาได้คิดว่าโทรศัพท์หายนั้นเป็นเรื่องเล็ก

ถึงอย่างไรเขาก็ยังโชคดีที่ไม่สูญเสียมากไปกว่านี้

ความเสียดายโทรศัพท์มือถือมลายหายเป็นปลิดทิ้ง

เหตุการณ์ที่ไม่น่ายินดีทั้งหลาย ถ้ามองให้เป็น

ก็ยังยิ้มได้ มีผู้ป่วยหลายคนอุทานว่า

"โชคดีที่เป็นมะเร็ง" เพราะมะเร็งทำให้เขาและเธอได้พบหลายอย่างที่มีคุณค่าต่อชีวิต

เช่น ได้รู้จักธรรมะ ได้อยู่ใกล้คนรัก

บางคนเป็นมะเร็งสมอง แต่ก็ยังบอกว่าโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก

เพราะเคยเห็นญาติทุกข์ทรมานกับโรคนี้มาก

ขยะและสิ่งปฏิกูลนั้น สามารถแปรเป็นปุ๋ยและบำรุงต้นไม้ให้งอกงาม

จนออกดอกออกผลฉันใดก็ฉันนั้น ปัญหาทั้งหลายก็มีแง่ดีหรือมีประโยชน์

ถ้ามองให้เป็น อารมณ์อกุศลก็ยากจะหมักหมมหรือยืดเยื้อเรื้อรังได้


เยียวยาใจด้วยการให้อภัย


ถ้าหากอารมณ์ที่หมักหมมนั้นเป็นความโกรธ

เกลียด พยาบาท วิธีหนึ่งที่ช่วยเปลื้องอารมณ์เหล่านี้ไปจากใจอย่างได้ผลมากคือ

การให้อภัย หรือดียิ่งกว่านั้นคือการแผ่เมตตาให้

ให้อภัยคือไม่ถือโทษโกรธเคืองในเรื่องที่ผ่านมา

ส่วนแผ่เมตตาหมายถึงการตั้งจิตปรารถนาดีให้มีความสุขยิ่ง

ๆ ขึ้นไป

คิม ฟุค เป็นเด็กเวียดนามที่รอดตายจากระเบิดนาปาล์มที่ทหารสหรัฐนำมาทิ้งในหมู่บ้านของเธอ

แต่ไฟได้เผาลวกผิวหนังของเธอถึงสองในสาม

เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง ๑๔

เดือน และผ่านการผ่าตัดถึง ๑๗ ครั้งกว่าจะหายเป็นปกติ

เรื่องของเธอได้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

สามสิบปีปีผ่านไปเธอได้รับเชิญไปสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายเป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

เพราะเธอได้เผชิญหน้ากับอดีตทหารอเมริกันที่ทิ้งระเบิดสังหารญาติพี่น้องของเธอ

แต่แทนที่เธอจะกล่าวประณามเขาด้วยความเคียดแค้น

เธอกลับโอบกอดเขา ชายผู้นั้นซึ่งปัจจุบันเป็นศาสนาจารย์

กล่าวคำขอโทษเธอ ขณะที่เธอตอบสั้น ๆ ว่า

"ไม่เป็นไร

ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย"

คิม ฟุคสารภาพว่าตั้งแต่เล็กจนโต เธอเคียดแค้นชิงชังทหารอเมริกันอย่างมาก

โดยเฉพาะคนที่ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านเธอ

จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร

แต่แล้วเธอก็พบว่า สิ่งที่ทำร้ายเธอจริง

ๆ ก็คือความเคียดแค้นพยาบาทที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง

หาใช่ใครที่ไหนไม่ "ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้"

ดังนั้นเธอจึงพยายามสวดมนต์และแผ่เมตตาให้ศัตรู

แล้วเธอก็พบว่า "หัวใจฉันมีความอ่อนโยนมากขึ้นเรื่อย

ๆ เดี๋ยวนี้ ฉันสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเกลียด"

ถ้าความเคียดแค้นพยาบาทคือพิษที่กัดแผลในใจจนเรื้อรัง

การให้อภัยและการมีเมตตาจิตก็คือยาที่สมานแผลให้สนิทดังเดิม

การให้อภัยคนที่ทำร้ายเรานั้นเป็นเรื่องยาก

แต่การที่จะมีชีวิตอย่างผาสุกตราบใดที่ยังมีความโกรธเกลียดสั่งสมในจิตใจ

กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ในใจของทุกคน

ย่อมมีบาดแผลจากความโกรธเกลียด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี

"ยาสามัญประจำใจ" ขนานนี้ไว้เยียวยาอยู่เสมอ


อยู่วิเวกเป็นครั้งคราว


อาหารถ้ากินมาก ๆ ก็มีสารพิษสะสมมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้การขับสารพิษเป็นไปได้ยาก

เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการย่อยเป็นหลัก

ดังนั้นเวลาจะขับสารพิษออกไปจากร่างกาย

จึงควรงดอาหารเป็นครั้งคราว ฉันใดก็ฉันนั้น

การเสพข่าวสาร แสงสี และการพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลา

ก็ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นลงไม่หยุดหย่อน

อารมณ์เหล่านี้แม้จะดับไปในเวลาไม่นาน

แต่ก็มักทิ้งตะกอนอารมณ์ไว้ในใจเรา ซึ่งหากสะสมมากพอ

ก็ทำให้เราเกิดอารมณ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น

เช่น คนที่หัวเสียหรือเครียดบ่อย ๆ นานไปก็จะหัวเสียและเครียดได้ง่ายขึ้นแม้กับเรื่องเล็ก

ๆ น้อย ๆ

ดังนั้นจึงควรมีบางช่วงที่เราปลีกตัวหลีกเร้นจากข่าวสาร

แสงสี และการพูดคุย ห่างไกลจากโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือ

อยู่คนเดียวอย่างเงียบ ๆ อย่างน้อยปีละ

๑ อาทิตย์ ถือเป็นโอกาสเจริญสติ บำเพ็ญสมาธิภาวนา

เพื่อลดตะกอนอารมณ์ วิธีนี้ยังเป็นการ

"เว้นวรรค" อารมณ์ไม่ให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนลุกลาม

จิตใจจะได้แจ่มใสสดชื่นอีกครั้งหนึ่ง


อยู่ในโลกอย่างรู้เท่าทัน


อย่างไรก็ตามเราอยู่ในโลกที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน

เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับข้อมูล

ข่าวสาร แสงสี ตลอดจนอารมณ์ของผู้คนโดยไม่ทุกข์ด้วย

มิใช่เอาแต่หลีกเร้นอย่างเดียว วิธีการอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็คือการรักษาใจให้มีสติอยู่เสมอ

เสียงดังหรือคำตำหนิไม่ทำให้เราทุกข์

หากใจไม่ไปเกาะเกี่ยวยึดติดอยู่กับมัน

มีคราวหนึ่งญาติโยมขอให้หลวงปู่บุดดา

ถาวโรพักผ่อนเอนกายหลังฉันเพลที่บ้านเจ้าภาพ

ห้องแถวข้าง ๆ เป็นร้านค้า เจ้าของใส่เกี๊ยะเดินขึ้นลงบันได

ส่งเสียงดังมาถึงห้องของหลวงปู่ ลูกศิษย์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องด้วย

บ่นขึ้นมาว่าเดินเสียงดังจัง หลวงปู่ได้ยินจึงพูดว่า

"เขาเดินของเขาอยู่ดี ๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง"

ใช่หรือไม่ว่าหูของเราชอบหาเรื่อง จึงไปยึดเอาเสียงต่าง

ๆ มาทิ่มแทงใจของตัว ส่วนตา หู จมูก ลิ้น

กาย และใจก็ไม่เบาเช่นกัน เราจึงมีความทุกข์อยู่ไม่ว่างเว้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะไม่มีสติกำกับนั่นเอง

การอยู่กับผู้คนมาก ๆ หากมีสติคู่ใจ มีอะไรมากระทบ

แม้จะออกมาจากอารมณ์ที่ร้อนแรง แต่ก็จะไม่ติดตรึงใจเราได้

เพราะเรารู้ทันอารมณ์ที่มากระทบ และปล่อยวางได้ทัน

เปรียบดังใบบัวที่ไม่ยอมให้หยดน้ำมาเกาะติดได้


เปิดปากเปิดใจ


แต่ปุถุชนนั้นยากที่จะมีสติตลอดเวลา ได้ยินได้เห็นอะไรไม่ถูกใจ

ย่อมปล่อยวางไม่ทัน เก็บเอามาทิ่มแทงตัวเอง

ซ้ำยังอดไม่ได้ที่จะคิดปรุงแต่งไปทางร้าย

เห็นเขากระซิบกระซาบกัน ก็คิดว่าเขากำลังนินทาตนเอง

ถ้าปักใจเชื่อเช่นนั้น ก็จะรู้สึกไปในทางร้ายกับเขาทันที

คำถามก็คือเรามั่นใจในข้อสรุปของตัวเองแล้วหรือ

จะดีกว่าไหมหากเปิดปากซักถามเขาว่ากำลังกระซิบกระซาบกันเรื่องอะไร

เรามักด่วนสรุปไปตามความคิดชั่วแล่น โดยไม่สาวหาความจริง

การเปิดปากซักถาม เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราด่วนสรุปอย่างผิด

ๆ จนเกิดอารมณ์อกุศลขึ้น ใช่หรือไม่ว่าเมื่อความจริงปรากฏ

บ่อยครั้งมันกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรานึก

ความกินแหนงแคลงใจและความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด

และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุปและไม่สืบสาวหาความจริง

ทั้ง ๆ ที่เพียงแค่เปิดปากซักถาม ความจริงก็ปรากฏ

ไม่ว่าในครอบครัว หรือที่ทำงาน การรู้จักเปิดปากซักถามเป็นวิธีป้องกันความเข้าใจผิด

และสกัดกั้นมิให้เกิดอารมณ์อกุศลได้เป็นอย่างดี

แต่เท่านั้นคงไม่พอ นอกจากการเปิดปากซักถามแล้ว

บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปิดปากเล่าความในใจด้วย

สาเหตุที่ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเพราะเราไม่กล้าเล่าความในใจให้อีกฝ่ายรับรู้

ว่ารู้สึกข้องขัดอย่างไรบ้าง การปิดปากเงียบ

ทำให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา และก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง

ในการอยู่ร่วมกัน เราควรส่งเสริมซึ่งกันและกันให้พร้อมที่จะเปิดปากซักถามเมื่อมีความสงสัยไม่แน่ใจ

หรือเปิดปากเล่าความในใจเมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันขึ้นมา

แต่จะทำเช่นนั้นได้ทุกฝ่ายต้องพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ

หรือไม่ตรงกับความคิดของตน การเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ

และความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้ผู้คนพร้อมเปิดปากซักถามและเล่าความในใจได้อย่างเต็มที่

แล้วเราอาจพบว่าปัญหานั้นแก้ได้ไม่ยากเลย

ใช่หรือไม่ว่าปัญหาเล็ก ๆ ลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะการไม่เปิดปากเปิดใจให้แก่กันและกัน

การเปิดปากเปิดใจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่อารมณ์เข้าหากัน

หากทุกฝ่ายมีสติรักษาใจ หรือแม้นว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสติ

แต่ถ้าคนหนึ่งมีสติ ตั้งอยู่ในความนิ่งสงบ

ก็สามารถช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้อื่นได้

ขอให้คน ๆ นั้นเริ่มต้นที่ตัวเรา ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป




RECAP:

- จากประกายไฟกลายเป็นกองเพลิง
- ทุกข์คลายได้ ถ้ารู้จักปล่อยวาง
- รู้เมื่อใด ละเมื่อนั้น
- เปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่น
- เยียวยาใจด้วยการให้อภัย
- มองแง่ดี
- อยู่วิเวกเป็นครั้งคราว
- อยู่ในโลกอย่างรู้เท่าทัน

- เปิดปากเปิดใจ

No comments: